Friday, June 4, 2010

ประวัติสมเด็จพระพุฒาจารย์

ประวัติสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พรหมรังษี)
..........สมัยเมื่อท่านยังเป็นเด็ก ท่าน เจ้าประคุณสมเด็จฯ ได้เรียนหนังสือในสำนัก ของท่านเจ้าคุณอรัญญิก ( ด้วง ) วัดอินทรวิหาร เดิมชื่อว่าวัดบางขุนพรหมนอก ส่วนวัดบางขุนพรหมใน ก็คือวัดบางพรหมในปัจจุบัน พออายุได้ ๑๒ ปีท่านได้บรรพชาเป็นสามเณร และได้ย้ายมาอยู่ที่วัดระฆังโฆษิตาราม ธนบุรี มีเรื่องเล่าว่า ก่อนที่ท่านจะย้ายมาอยู่ที่วัดระฆังฯ นั้น ในตอนกลางคืน สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ ( นาค ) เจ้าอาวาสวัดระฆังฯ ขณะนั้นได้ฝันว่า " ได้มีช้างเผือกเชือกหนึ่งเข้ามา กินหนังสือในตู้พระไตรปิฎกของท่านจนหมดตู้ ไม่มีเหลืออยู่เลยสักเล่ม " เมื่อท่านตื่นมาในตอนเช้าได้พิจารณาความฝันเมื่อคืนนี้แล้ว ก็ปลงใจว่า " ถ้ามีใครเอาเด็กมาฝากให้เป็นลูกศิษย์ ก็ขอให้รอพบก่อน " ครั้นในเพลารุ่งขึ้น ท่านเจ้าคุณอรัญญิกก็ได้นำเอาสามเณรโตมาถวายเป็นศิษย์ในเจ้าประคุณ สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ ( นาค ) ท่านก็รับด้วยความยินดีสมกับความฝันจริง
..........เมื่อ ท่านเจ้าประคุณ สมเด็จฯ ได้เข้ามาศึกษาทางด้านพระปริยัติธรรม ณ วัดระฆังฯ แล้วปรากฏว่า การศึกษาของท่านได้รับคำชมเชยจากพระอาจารย์อยู่เสมอว่า ความจำความเฉลียวฉลาดปราดเปรื่องปฏิภาณไหวพริบของท่านนั้น เป็นเลิศหาผู้ใดเสมอเหมือนได้ยากประการหนึ่ง ท่านเรียนรู้พระปริยัติธรรมได้อย่างที่เรียกว่า " รู้แจ้งแทงตลอด " กันเลยทีเดียว นอกจากท่านจะได้ศึกษาในสำนักสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ ( นาค ) วัดระฆังฯ แล้ว ท่านยังได้ไปฝากตัวศึกษาทางด้านปริยัติ และด้านปฏิบัติกับสมเด็จพระสังฆราช ( สุก ) ไก่เถื่อน ณวัดมหาธาตุฝั่งตะวันตกของสนามหลวงเป็นพื้น และด้วยความเฉลียวฉลาดปราดเปรื่อง ของท่านดังกล่าวแล้ว จนกระทั่ง สมเด็จพระสังฆราชฯ ตรัสว่า " สามเณรโตเขาไม่ได้มาศึกษากับฉันดอก เขามาแปลหนังสือให้ฉันฟัง " นอกจากทางด้านปริยัติท่านจะได้ศึกษา อย่างรู้แจ้งรู้จบแล้ว ท่านยังได้หันไปศึกษาทางด้านปฏิบัติเพื่อ ความหลุดพ้นจากวัฏสงสาร กับสมเด็จพระสังฆราช ( สุก ) ไก่เถื่อนอาจารย์รูปหนึ่งทางด้านปริยัติธรรมของท่าน ซึ่งในขณะนั้นท่านมีชื่อเสียงโด่งดัง ทางปฏิบัติอยู่ก่อนแล้ว
..........และด้วยคุณวิเศษในด้านเมตตาของท่าน จนสามารถโน้มน้าวจิตใจของไก่ป่า ที่แสนเปรียวในป่าชัาต้องละป่า และละถิ่นฐานตามท่านมาอยู่ในกรุง เป็นเหตุมหัศจรรย์อย่างหนึ่ง จึงได้รับสมญานามว่า สมเด็จพระสังฆราชไก่เถื่อน อาจารย์ทางด้านวิปัสสนาธุระของท่านเจ้าประคุณสมเด็จฯ นอกจากสมเด็จพระสังฆราชไก่เถื่อน แล้วก็มีเจ้าคุณอรัญญิกวัดอินทรวิหารบางขุนพรหม โดยเฉพาะสมณศักดิ์อรัญญิก ซึ่งแปลว่า ป่า ย่อมจะเป็นที่แจ้งชัดแล้วว่า ท่านเป็นผู้ชำนาญทางปฏิบัติ เพราะตำแหน่งนี้เป็นตำแหน่งของด้านวิปัสสนาธุระอยู่แล้ว ยังมีเจ้าคุณบวรวิริยเถร วัดสังเวชวิทยาราม บางลำพู และท่านอาจารย์แสง วัดมณีชลขันธ์ ลพบุรี ผู้โด่งดังทางด้านปฏิบัติ และเก่งกล้าทางพุทธาคมอีกด้วย โดยที่สามเณรโตท่านเป็นผู้มักน้อย สันโดษ และไม่มีความทะเยอทะยานในลาภยศสรรเสริญทั้งๆ ที่ท่านเป็นผู้ที่เรียนรู้ในพระปริยัติธรรม และมีความเชี่ยวชาญถ่องแท้ในพระไตรปิฎกเป็นอย่างดี แต่สามเณรโตท่านก็หาได้เข้าสอบเป็นเปรียญไม่
..........นอกจากท่านจะมีความเชี่ยวชาญสนด้าน ปริยัติธรรมดังกล่าว ท่านยังมีความสามารถในการเทศน์ได้ไพเราะ และมีความคมคายยังจับจิต จับใจท่านผู้ฟังมาแต่ครั้งท่านเป็นสามเณรอยู่ก่อนแล้ว เรื่องนี้เป็นที่เล่าลือขจรขจายไปทั่วทุกทิศ และด้วยเหตุสามเณรโตเป็นนักเทศน์ เป็นเหตุให้ พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ( ร . ๒ ) ตั้งแต่ครั้งยังทรงเป็นเจ้าฟ้ากรมหลวงอิศรสุนทร ทรงโปรดปรานเป็นอย่างมาก ถึงกับพระราชทานเรือกัญญาหลังคากระแชงไว้ให้ใช้ และรับไว้ในพระราชูปถัมภ์อีกด้วย ส่วนพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าฯ ทรงพระเมตตาสามเณรโตไม่น้อยเหมือนกัน และทรงโปรดให้สามเณรโตเป็นนาคหลวง และอุปสมบทในพระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม ในรัชกาลที่ ๓ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว จะทรงแต่งตั้งในท่านเจ้าประคุณสมเด็จฯ ให้เป็นพระราชาคณะ แต่ทว่าท่านเจ้าประคุณ สมเด็จฯ ได้ทูลขอตัวเสีย ด้วยเหตุที่กลัวพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว จะโปรดพระราชทานสมณศักดิ์ให้ ท่านเจ้าประคุณสมเด็จฯ จึงได้ถือธุดงควัตรไปตามจังหวัดที่ห่างไกลเป็นการเร้นตัวไปในที
..........สืบต่อมาในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระ จอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ( ร . ๔ ) โปรดเกล้าฯ พระราชทานสมณศักดิ์ ในคราวนี้ท่านเจ้าประคุณสมเด็จฯ ไม่ขัด พระราชประสงค์ อาจจะเป็นด้วยท่านชราภาพลงมาก คงจะจาริกไปในที่ห่างไกลคงไม่ไหวแล้ว เพราะตอนที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้า อยู่หัว ( ร . ๔ ) พระราชทานสมณศํกดิ์เป็นที่ พระธรรมกิติเจ้าอาวาสวัดระฆังฯ เมื่อปี พ . ศ . ๒๓๙๕ นั้นท่านมีอายุได้ ๖๕ ปีเข้าไปแล้ว โดยเฉพาะ อย่างยิ่ง พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว นั้น พระองค์ท่านได้ทรงผนวชมาแต่พระชนมายุได้ ๒๑ พรรษา และได้ทรงศึกษาด้านวิปัสสนา ธุระ ณ วัดราชาธิวาส จนจบสิ้นตำรับตำรา ทรงมีความรอบรู้อย่างถ่องแท้ จนไม่มีครูบาอาจารย์รูปอื่นใด จะสามารถอธิบายให้กว้างขวางต่อไป ได้อีก จึงได้ทรงระงับการศึกษาทางด้านวิปัสสนาธุระไว้เพียงนั้น พอออกพรรษาก็เสด็จมาประทับ ณ วัดมหาธาตุ ก็ทรงหันมาศึกษาทางฝ่าย ปริ ยัติธรรม โดยได้เริ่มศึกษาภาษาบาลีเพื่ออ่านแปลพระไตรปิฏก ทรงค้นคว้าหาความรู้โดยลำพัง พระ องค์เอง ทรงขะมักเขม้นศึกษาอยู่ ๒ ปี ก็รอบรู้ภาษาบาลีอย่างกว้างขวาง ผิดกับผู้อื่นที่ได้เคยศึกษามา
..........เมื่อกิติศัพท์ทราบถึงพระบาทสมเด็จ พระนั่งเกล้าเจ้าอยู้หัวฯ จึงโปรดให้เสด็จฯ เข้าแปลพระปริยัติธรรมถวายตามหลักสูตรเปรียญในเวลานั้น พระองค์ทรงแปลอยู่ ๓ วัน ก็ปรากฏว่าทรงแปลได้หมดจนจบชั้นเปรียญเอก จึงพระราชทานพัดยศสำหรับเปรียญเอก ๙ ประโยค ให้ทรงถือ เป็นสมณศักดิ์ต่อมา ฉะนั้นเมื่อพระองค์พระราชทานสมณศักดิ์ให้ท่านเจ้าประคุณสมเด็จฯ โต จึงเข้าทำนองปราชญ์ย่อมจักเข้าใจ ในปราชญ์ เกี่ยวกับเรื่องนี้มีเรื่องเล่ากันว่า " ในตอนที่พระราชทานให้ท่านเจ้าประคุณสมเด็จฯโต เป็นที่พระธรรมกิติเจ้าอาวาสวัดระฆังฯนั้น พระบาทสมเด็จ พระจอมเกล้า ทรงเจ้าอยู่หัว ทรงรับสั่งถามท่านเจ้าประคุณสมเด็จฯ ว่าในรัชกาลที่ ๓ ทำไมเจ้าประคุณสมเด็จฯจึงหนีไม่ยอมรับพระราชทาน สมณศักดิ์ แต่คราวนี้จึงไม่หนีอีกเล่า ท่านเจ้าประคุณสมเด็จฯ ได้ถวายพระพรด้วยปฏิภาณไหวพริบอันว่องไวและเฉียบแหลมว่า " รัชกาลที่ ๓ ทำไมไม่ได้เป็นเจัาฟ้า เป็นแต่เจ้าแผ่นดินเท่านั้น ท่านจึงหนีได้ แต่มหาบพิตรพระราชสมภารเจ้า ( ร . ๔ ) เป็นทั้งเจ้าฟ้าเจ้าแผ่นดิน ท่านเจ้าประ คุณสมเด็จฯ จึงหนีไปไหนไม่พ้น "
..........พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่ หัวได้ทรงรับก็ทรงพระสรวล ด้วยความพอพระราชหฤทัย ด้วยเหตุฉะนี้กระมังพระองค์จึงทรงโปรดและมีพระมหากรุณาต่อ ท่านเจ้าประคุณสมเด็จพระพุฒาจารย์ ( โต ) วัดระฆังฯ เป็นพิเศษ บางโอกาสแม้ว่าท่านเจ้าประคุณสมเด็จฯ จะได้แสดงข้ออรรถ ข้อธรรมอันลึกซึ้งที่ขัดพระทัย อยู่บ้าง ก็ทรงอภัยให้เสมอ มีเรื่องเล่าว่า เมื่อออกพรรษาเป็นเทศกาลทอดกฐินพระราชทาน พระองค์ทรงโปรดให้อารามหลวงในเขตกรุงเทพพระมหานคร จัดการตกแต่งเรือเพื่อการประกวดประชันความงามและความคิด เมื่อขบวนเรือประกวดล่องผ่านพระที่นั่งเป็นลำดับๆ ซึ่งล้วนแต่ตกแต่งด้วยพันธุ์บุปผานา นาชนิดสวยงามยิ่งนัก ครั้นมาถึงเรือประกวดของวัดระฆังฯ เท่านั้นเป็นเรือจ้นเก่าๆ ลำหนึ่ง ที่หัวเรือมีธงสีเหลืองที่ทำจากจีวรพระมีลิงผูกอยู่กับเสาธงที่กลาง เรือมีเจ้าประคุณสมเด็จฯนอนเอกเขนกอยู่เท่านั้น พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทอดพระเนตรเห็นเท่านั้น ก็เสด็จขึ้นทันทีแล้วตรัสว่า " ขรัวโตเขาไม่ยอมเล่นกับเรา " แต่ก็ทรงทราบด้วยพระปรีชาว่า การที่ขรัวโตประพฤติเช่นนั้นทำเป็นปริศนาให้ทรงทราบว่า

ความจริงแล้วพระสงฆ์ องค์เจ้าอย่างท่านไม่ได้สะสมทรัพย์สินเงินทอง แต่อย่างใด มีเพียงอัฐบริขารเท่าที่จำเป็นเท่านั้น จะจัดหาสิ่งของเอามาตกแต่งเรือให้สวย งามได้อย่างไร คงมีแต่จีวรที่แต่งแต้มสีสันกับสัตว์เลี้ยง คือลิงที่มักแลบลิ้นปลิ้นตา ดังวลีที่ว่า การกระทำเช่นนั้นความจริงแล้วมันเหมือนกับทำตัวเป็น " ลิงหลอกเจ้า " นั้นเอง แต่พระองค์ก็ทรงอภัยโทษ หาได้โกรธขึ้งได้ การกระทำเช่นนั้น ถ้าเป็นบุคคลอื่นคงจะหัวขาดเป็นแน่ ครั้งถึงวันที่สาม วันนี้เป็นวันที่ ปราศจากพระราชกิจแต่อย่างใด จึงตั้งพระทัยว่าจะสดับพระธรรมเทศนาให้จุพระทัย แต่ทว่าเจ้าประคุณสมเด็จฯ ท่านก็รู้แจ้งในพระประสงค์ พอท่านขึ้น ธรรมาสน์ถวายศีล บอกศรัทธาถวายพระพรตั้งนะโมว่าอรรถ ต่อจากนั้นก็แปลเพียงสองสามประโยคแล้วท่านเจ้าประคุณฯ ได้กล่าวว่าจะถวายพระธรรมเทศ นาพระธรรมหมวดใดๆ มหาบพิตรราชสมภารเจ้าก็ทรงทราบหมดแล้ว เอวังก็มีด้วยประการฉะนี้ เสร็จแล้วท่านเจ้าประคุณสมเด็จฯ ก็ลงจากธรรมาสน์ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงทรงมีรับสั่งความว่า " ทำไมวันก่อนจึงถวายพระธรรมเทศนาเสียยืดยาวมากกว่านี้ ?"
..........ท่านเจ้าประคุณสมเด็จฯ จึงถวายพระพรไปว่า " เมื่อวานพระมหาบพิตรพระราชหฤทัยขุ่นมัว จะทำให้หายขุ่นมัวนั้นจะต้องสดับพระธรรมเทศนามากๆ แต่มาวันนี้พระราชหฤทัยผ่องใส จะสดับแต่เพียงน้อยก็ได้ " พระองค์ไม่ตรัสว่าอย่างไร ได้แต่ทรงพระสรวลด้วยความยินดีเข้าทำนองปราชญ์ย่อมจักเข้าใจ ในปราชญ์ฉะนั้น สืบต่อมาได้มีพระเถระรูปอื่นได้นำเอาวาทะของท่านเจ้าประคุณสมเด็จฯ ดังกล่าวแล้วไปใช้พระองค์ไม่ให้อภัยอย่างท่านเจ้าประคุณสมเด็จฯ ทรงกริ้วเป็นอย่างมากอีกด้วย จากเหตุการณ์ที่เล่ามานี้แสดงว่าเจ้าประคุณสมเด็จฯ เป็นที่โปรดปรานและทรงพระเมตตาแก่ท่านเป็นอย่างมากอีกด้วย และจากพฤติกรรมที่ท่านเจ้าประคุณสมเด็จฯ ท่านทราบถึงวาระจิตของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯ นั้นย่อมจักแสดงว่าท่านเป็นผู้สำเร็จและทรงคุณวิเศษ ในอภิญญา คือกำหนดรู้วาระจิตบุคคลอื่น มีอยู่คราวหนึ่งพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทอดพระเนตรละครหลวง ซึ่งตัวละครเป็นเจ้าจอมหม่อม ห้ามอยู่เป็นเนืองนิตย์ ท่านเจ้าประคุณสมเด็จฯ จึงได้จุดไต้ในเวลากลางวัน เดินเข้าไปเฝ้าพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวในพระบรมมหาราชวัง ทำเป็นปริศนาธรรม เพื่อประสงค์จะทูลเตือนพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ด้วยเกรงว่าจะทรงหมกหมุ่นในกามคุณารมย์มากไปนั่นเอง
..........พอพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่ หัวทอดพระเนตร เห็นก็มีพระราชดำรัสว่า " ขรัว เขารู้แล้ว เขารู้แล้ว " ท่านเจ้าประคุณสมเด็จฯท่านได้จุดไต้ในเวลา กลางวันอีกครั้งหนึ่ง โดยได้เดินเข้าไปหาท่านเจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ฯ ผู้สำเร็จราชการแผ่นดินในต้นรัชสมัยรัชกาลที่ ๕ เมื่อเสวยราชสมบัติแต่ยังทรงพระ เยาว์อยู่ เพราะมีข่าวลือว่า ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์จะคิดกบฏ และเมื่อท่านเจ้าประคุณสมเด็จฯ เข้าไปหาผู้สำเร็จราชการแล้วได้เล่าข่าวลือให้ฟังพร้อม ทั้งบอกว่าจะจริงหรือไม่จริงอย่างไร อาตมาก็ขอบิณฑบาตเสียเลย เรื่องราวอันเกี่ยวกับท่านเจ้าประคุณสมเด็จฯ ท่านประพฤติปฏิบัติตนตามความสัตย์จริง เท่าที่ท่านจะเห็นควร โดยไม่ได้คำนึงถึงขนบธรรมเนียมประเพณีปฏิบัตินั้น นอกจากจะทำเป็นปริศนาธรรมให้คิดแล้วยังแสดงออกถึงคุณวิเศษของท่าน อีกด้วย มีเรื่องเล่าต่อไปว่า มีอยู่ครั้งหนึ่งพระภิกษุที่วัดระฆังฯ ซึ่งท่านเป็นผู้ปกครองวัดอยู่ได้ตีกันถึงหัวร้างข้างแตก พระรูปที่ถูกตีหัวแตกได้ไปฟ้องท่าน ซึ่งท่านเจ้าประคุณสมเด็จฯ ได้ตอบพระรูปนั้นไปว่า
.........." ก็คุณตีเขาก่อนนี่ " พระรูปนั้นก็ตอบว่า " กระผมไม่ได้ตี " แต่ทว่าท่านเจ้าประคุณสมเด็จฯ คงยืนกรานคำพูดของท่านอย่างนั้นพระรูปนั้นเกิดความไม่พอใจ เป็นอย่างมาก จึงได้ไปฟ้องสมเด็จพระวันรัต ( เข่ง ) วัดอรุณฯ ได้ตรวจสอบอย่างแน่ชัดเช่นนั้นแล้ว สมเด็จฯ วัดอรุณฯ จึงได้ให้คนไปนิมนต์ท่านเจ้าประคุณ สมเด็จฯ ( โต ) มาจากวัดระฆังฯ มาสอบถาม โดยถามท่านเจ้าประคุณสมเด็จฯ ว่าท่านรู้ได้อย่างไรว่าพระรูปนั้นไปตีพระอีกรูปก่อน ท่านเจ้าประคุณสมเด็จฯ ท่านเลี่ยงไปตอบว่า ท่านรู้ได้ตามพุทธฏีกาว่า " เวรไม่ระงับด้วยเพราะการจองเวร " และ " เวรต่อเวรมันตอบแทนซึ่งกันและกัน " ซึ่งก็หมายความว่า เมื่อชาติก่อนพระรูปที่ถูกตีหัวแตกเคยไปตีหัวพระองค์นั้นก่อนนั่นเอง เมื่อสมเด็จพระวันรัตได้ฟังท่านเจ้าประคุณสมเด็จฯ ตอบเช่นนั้น ก็จนด้วยปัญญา จึงได้มอบหมายให้ท่านเป็นผู้ระงับอธิกรณ์ในครั้งนี้ ท่านเจ้าประคุณสมเด็จฯ ได้เรียกพระทั้งสองรูปนี้มาอบรมสั่งสอนตามแนวทางธรรมะไม่ให้จองเวรซึ่งกัน และกัน เสร็จแล้วจึงได้มอบเงินทำขวัญให้แก่พระทั้งสองรูปนั้นคนละ ๑ ตำลึงซึ่งในสมัยนั้นนับว่าเป็นเงินมากโขอยู่ แล้วสรุปว่าท่านทั้งสองรูปไม่มีใครผิดไม่มี ใครถูก แต่ฉันเป็นคนผิดเองที่ปกครองดูแลไม่ดี อย่างนี้เป็นต้น
..........ยิ่งไปกว่านั้น ท่านเจ้าประคุณสมเด็จฯ ท่านยังกอปรด้วยเมตตาเป็นยิ่งนัก มีเรื่องเล่าว่าคืนหนึ่งขณะที่ท่านกำลังนอนหลับอยู่ได้มีหัวขโมย ซึ่งส่วนมากเป็น ประเภทขี้ยาหรือพวกที่ชอบลักเล็กขโมยน้อย ได้ขึ้นมาลักขโมยเอาตะเกียงลานของท่าน แต่ทว่าเอื้อมหยิบไม่ถึงท่านเจ้าประคุณสมเด็จฯ จึงเอาเท้าเขี่ย ตะเกียงลานให้ แล้วพูดว่า ให้รีบๆ ไป เดี๋ยวลูกศิษย์มาเห็นเข้าจะเจ็บตัว อีกครั้งหนึ่งท่านเจ้าประคุณสมเด็จฯ ได้จัดเครื่องกฐินเพื่อไปทอดที่วัดแห่งหนึ่งแถว จังหวัดอ่างทอง แต่ขณะที่จอดเรือพักนอนค้างคืนนั้น ได้มีขโมยมาลักเอาเครื่องกฐินของท่านจนหมด ท่านเจ้าประคุณสมเด็จฯ ตื่นขึ้นมาแทนที่ท่านจะโกรธ กลับแสดงความดีใจเลยล่องเรือกลับกรุงเทพฯ ผ่านคนที่รู้จักกันท่านจะบอกแบ่งบุญให้อย่างทั่วถึง พอแล่นเรือมาถึงบางตะนาวศรี แถวเมืองนนบุรี ท่านได้ แวะซื้อหม้อดินจนเต็มเรือ ใครถามท่านจะตอบว่า " เอาไปแจกคนบางกอกเขาจ้ะ " เมื่อเรือแล่นมาถึงกรุงเทพฯ ท่านเจ้าประคุณสมเด็จฯ ก็ให้เรือแล่นเข้าคลอง บางลำพูไปออกทางคลองโอ่งอ่าง สะพานหัน เที่ยวแจกหม้อเขาเรื่อยไปจนหม้อหมดก็กลับวัด พวกนักเลงหวยเห็นพฤติกรรมอันประหลาดของท่านเจ้าประ คุณสมเด็จฯ เป็นเช่นนั้นก็คิดว่า ท่านเจ้าประคุณสมเด็จฯ " ใบ้หวย ก . ข ." คือตัว ม . ( หม้อ ) ปรากฏว่าวันนั้นทั้งวันหวยออกตัว ม . ทั้งเช้าและค่ำ เล่นเอาเจ้า มือหวยเจ๊งไปตามๆ กัน



มีวลีกล่าวถึงประวัติของท่านเจ้า ประคุณสมเด็จฯ อยู่ประโยคหนึ่งว่า " ท่านนอนอยู่ที่อยุธยามานั่งที่ไชโย มาโตที่วัดอินทร์ จำศีลที่วัดระฆัง " และเพื่อเป็นอนุ สรณ์แห่งความทรงจำ และระลึกถึงสถานที่สำคัญๆ สำหรับชีวิตท่าน ท่านได้สร้างปูชนียวัตถุอันเป็นที่พึ่งทางใจของผู้ที่ได้พบเห็น ก่อให้เกิดศรัทธาได้เป็น ที่ยิ่ง อาทิเช่น ท่านได้สร้างพระพุทธไสยาสน์ ( พระนอน ) ที่ใหญ่โตไว้ที่วัดสะดือ อยุธยา สร้างพระนั่งที่ใหญ่โตไว้ที่วัดไชโย จ . อ่างทอง สร้างพระยืนที่ใหญ่โต ที่วัดอินทรวิหาร กรุงเทพฯ นี้ แลท่านชอบสร้างปูชนียวัตถุให้ใหญ่ๆ โตๆ ตามพระนามของท่านว่า โต นั่นเอง
..........เป็นเรื่องที่เล่าขานกันอย่างกว้าง ขวาง และเด่นชัดระหว่างท่านเจ้าประคุณสมเด็จพระพุฒาจารย์ ( โต ) พรหมรังษี อดีตท่านเจ้าอาวาสวัดระฆังฯ กับพระบาท สมเด็จพระจอมเกล้าอยู่หัว ( ร . ๔ ) ซึ่งพระองค์ทรงผนวชตลอดมาเป็นระยะเวลาอันยาวนาน และด้วยความเป็นอัจฉริยะของพระองค์ทรงมีความรู้แตกฉานทั้ง ในด้านคันถธุระ และวิปัสสนาธุระชนิดรู้แจ้งแทงตลอด และเมื่อพระองค์เสด็จนิวัตมาเถลิงราชย์แล้วนั้น ท่านเจ้าประคุณสมเด็จฯ มักจะประพฤติปฏิบัติแผลงๆ ไม่ยึดถือขนบธรรมเนียมอันควรปฏิบัติ เอาแต่ความคิดเห็นของท่านเป็นส่วนใหญ่ แต่ทว่าการประพฤติปฏิบัติของท่านนั้นอยู่บนรากฐานของความจริง แฝงไว้ด้วยคติธรรมและแง่คิดอย่างชาญฉลาดเยี่ยงปรัชญาเมธี จึงจักเข้าใจซึ่งกันและกันอย่างกับท่านเจ้าประคุณสมเด็จฯกับพระบาทสมเด็จพระ จอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ( ร . ๔ )

No comments:

Post a Comment

Search This Blog

Dhamma Blog - Dharma Thai Buddhism Portal

 

blogger templates | Make Money Online