Friday, June 4, 2010

ตำนานคาถาชินบัญชร

ตำนานประวัติ ความเป็นมา ของ คาถา ชินบัญชร


โดย ศรีเลา เกษพรหม - สถาบันวิจัยสังคม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่


คาถาชินบัญชร เป็นคาถาที่นิยมสวดและนับถือกันทั่วไปในเมืองไทย ในพม่า และในประเทศศรีลังกา ในเมืองไทยนั้นเป็นที่รู้จักของคนโดยทั่วไป แต่ยังไม่มีใครทราบแน่ชัดว่า คาถานี้แต่งขึ้นที่ใด ใครเป็นคนแต่ง บางท่านก็ว่าแต่งโดยสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พรหมรํสี) วัดระฆังโฆสิตาราม เพราะทราบว่าท่านใช้สวดประจำ บางท่านก็ว่าแต่งโดยพระเถระชาวเชียงใหม่รูปหนึ่งไม่ปรากฏชื่อ

พระญาณสังวรสมเด็จพระสังฆราช วัดบวรนิเวศวิหาร ทรงได้ตรวจชำระคาถาชินบัญชรแล้วให้พิมพ์แจกเป็นธรรมทานในการบำเพ็ญกุศลคล้าย วันเกิดเมื่อ พ.ศ.2518 และทรงสนพระทัยความเป็นมาของคาถานี้มาก จึงได้ทรงสืบเสาะเรื่องนี้ และได้สรุปตามหลักฐานเท่าที่มีในครั้งนั้นว่า คาถาชินบัญชรนี้พระเถรชาวเชียงใหม่รูปหนึ่งเป็นผู้แต่งเมื่อ 400 ปีเศษมาแล้ว

ต่อมาข้าพเจ้าได้พบคัมภีร์ใบลานผูก 1 บอกไว้ว่าผูก 7 ใบลานกว้าง 4.5 ซม. ยาว 47 ซม. เดิมใบลานผูกนี้มี 34 หน้า ปัจจุบันหน้าที่ 1 – 6 ขาดหายไป คาถาชินบัญชรในใบลานผูกนี้มีด้วยกัน 15 บท ตัวคาถาคงเริ่มที่หน้าแรก จบที่หน้า 7 เพราะบรรทัดแรกของหน้า 7 เป็นปลายคาถาบทที่ 15 เริ่มด้วย “ธมมานุภาบาลโตติ //15// ชยปญจร ปณณรสคาถานิฏฐิตา” น่าเสียดายที่ตัวคาถาชินบัญชรที่ครบทั้ง 15 บทได้หลุดหายไปกับใบลาน 6 หน้าตอนต้น ต่อจากนั้นเป็นประวัติความเป็นมาของการแต่งคาถานี้ ณ ที่เมืองลังกา โดยบอกถึงการแต่งคาถาว่า 8 ตัวเป็น 1 บาท 4 บาทเป็น 1 คาถา ต่อจากนั้นเป็นคาถา “อัฏฐชัยมังคละ” (พาหุง) จำนวน 8 บท พร้อมทั้งคำอธิบายวิธีใช้ ต่อจากนั้นเป็นคาถา “สัมพุทเธ” พร้อมทั้งคำอธิบายวิธีใช้ และบอกว่าคัดลอกคาถาสัมพุทเธนี้สืบต่อมาจากสังฆราชชาวหงสา ต่อจากนั้นเป็นคาถา “พุทธคุณ” จำนวน 12 บท ต่อจากนั้นเป็นคาถาชื่อ “มัจฉราชจริยา” ต่อจากนั้นเป็นคาถาชินบัญชรอีกครั้งหนึ่ง แต่มีเพียง 8 บทเท่านั้น และในคัมภีร์ใบลานผูกนั้นได้กล่าวถึงประวัติความเป็นมาของคาถาชินบัญชรไว้ ด้วย

ในตอนท้ายข้าพเจ้าจะนำเอาคาถาและคำแปลเป็นประโยคๆ ที่มีอยู่ในใบลาน อันพระสงฆ์ในสมัยโบราณได้แปลไว้ มาลงให้อ่าน เพื่อท่านที่นิยมสวดคาถาชินบัญชรจะได้รู้คำแปลทำให้เกิดความเชื่อมั่นในคาถา มากขึ้น

ตำนานประวัติความ เป็นมา

คาถาชินบัญชรเกิดขึ้นที่ประเทศลังกา ตามประวัตินิทานในใบลานกล่าวไว้ว่า มีพระราชาของลังกาพระองค์หนึ่ง ทรงมีโอรสกับพระมเหสี จึงเป็นที่ปลาบปลื้มพระทัยของพระองค์ยิ่งนัก หลังจากนั้นจึงให้หมอโหรทายทักดวงชะตาของพระโอรส หมอโหรได้ตรวจดูดวงชะตาราศีแล้วทายทักว่า เมื่อพระโอรสมีพระชนมายุได้ 7 ปีกับอีก 7 เดือน จะถูกฟ้าผ่าถึงแก่สวรรคต ในตอนแรกพระราชาก็คงไม่ทรงเชื่อมากนัก อยู่ต่อมาจนกระทั่งอายุของพระโอรสได้ 7 ปีกว่าๆ แต่ยังไม่ถึงกว่า 7 เดือน พระโอรสกำลังน่ารัก พระองค์จึงเกิดการปริวิตกพระทัย คิดว่าถ้าเกิดเหตุจริงตามที่หมอโหรได้ทายไว้ จะเสียพระโอรสไป จึงได้ทรงปรึกษาข้อปริวิตกเรื่องนี้แก่พระสงฆ์เถระในลังกา เพื่อหาทางหลีกเลี่ยงภัยอันจะเกิดขึ้นแก่ราชโอรส พระเถระชาวลังกาจำนวน 14 รูป จึงได้ประชุมตกลงกันจะประกอบพิธีขึ้นที่ปราสาทของกษัตริย์ลังกาชั้นที่ 7 โดยพระสงฆ์ทั้ง 14 รูปได้แบ่งหน้าที่กัน โดยให้แต่ละรูปแต่งคาถาขึ้นรูปละ 1 บท และที่สำหรับแต่งคาถานั้นอยู่ใกล้กับป่องบัญชร คาถานั้นจึงได้ชื่อว่า ชัยบัญชร เมื่อแต่งคาถาเสร็จแล้วมีจำนวน 14 บท จึงให้พระราชาบูชาด้วยอามิสต่างๆ เช่นอาสนะ ฉัตร พัด ช่อ ธง เทียนธูป ประทีป ข้าวตอกดอกไม้เป็นต้น แล้วให้พระโอรสเรียนเอาคาถานั้นท่องบ่นทุกวัน

เมื่อถึงกำหนดวันที่โหรได้ทำนายไว้ คืออายุพระโอรสครบ 7 ปี กับ 7 เดือน ฟ้าได้ผ่าลงมาจริง แต่ไม่ถูกพระโอรส แต่ผ่าถูกหินก้อน 1 อยู่ทางทิศตะวันตกเมืองลังกา พระโอรสจึงได้แคล้วคลาดจากภัยในครั้งนั้น เชื่อว่าเป็นเพราะพระโอรสได้ท่องบ่นคาถาที่พระสงฆ์ทั้ง 14 รูปแต่งขึ้นนั้นเอง และนอกจากนั้นยังทำให้พระโอรสมีอายุยืนยาวได้สืบต่อราชสมบัติแทนพระราชบิดา ปกครองบ้านเมืองด้วยความผาสุกจนสิ้นอายุขัย

นำคาถาชินบัญชร จากลังกาเข้ามาในล้านนา

เมื่อราว พ.ศ.1981 / A.D.1438 มีพระมหาเถรองค์ 1 ชื่อ ชัยมังคละ อยู่วัดมหาธาตุ

เมืองหริภุญไชย (ปัจจุบันวัดพระธาตุหริภุญไชย) เป็นผู้อุปัฏฐากองค์พระธาตุ ได้เดินทางไปไหว้พระทันตธาตุที่เมืองลังกา และได้เสาะแสวงหามนต์ศาสตรศิลป์กับครูบานักปราชญ์ชาวลังกา นักปราชญ์ชาวลังกาจึงได้มอบคาถา 14 บท พร้อมทั้งวิธีการใช้ให้แก่มหาเถรชัยมังคละ มหาเถรชัยมังคละจึงคัดลอกคาถานั้นลงใบลาน เมื่อเสร็จแล้วพระมหาเถรจึงเดินทางกลับเมืองหริภุญไชย ต่อมาพระมหาเถรจึงได้เขียนคาถา 14 บทที่คัดลอกจากเมืองลังกาถวายแด่พญาติโลกราช กษัตริย์เมืองเชียงใหม่ เพื่อใช้สวดก่อนนอน จึงทำให้พญาติโลกราชอยู่ด้วยความสุขความเจริญ ปราบชนะข้าศึกทั้งปวง และมีอายุยืนยาว ได้สร้างและบูรณะวัดวาอารามในศาสนา เช่นพระธาตุหริภุญไชย เป็นต้น เสนาอามาตย์ และข้าทาสบริวาร ไพร่ฟ้าประชาชนทั่วไปจึงพากันเรียนเอาคาถา 14 บทนั้นไว้ท่องบ่นสักการะบูชา จึงทำให้ชาวบ้านชาวเมืองมีความสุขความเจริญโดยทั่วหน้ากัน


(คาถาชินบัญชรพร้อม คำแปล)

ดูกราสัปปุริสทังหลาย อะหัง อันว่าข้า คาระโว เป็นผู้ไปกับด้วยอันครบยำ สัปปุริโส เป็นไปกับอันอ่อนน้อม สัตถารัง ยังสัพพัญญูเจ้าตนเป็นครูสั่งสอนคนและเทวดาทังหลาย มะมะสีลังจะ อันตนข้าทังมวลนี้บูชา ระหัง ขอถวายเป็นเครื่องบูชาสัพพัญญูเจ้าทีนี้ เจติยะวะรานิวิยะ เหมือนดังเรือนแห่งพระเจดีย์เจ้า 3 ประการ คือว่าสรีระเจดีย์ ปริโภคะเจดีย์ อุทเทสะเจดีย์ เยพุทธา อันว่าพระพุทธเจ้าทังหลายฝูงใด อัฏฐะวีสะติ อันได้ 28 พระองค์ ตัณหังกะราทะโย อันมีพระเจ้าตัณหังกรเป็นเค้าพระเจ้าฝูงนั้น นะราสัพภา อันประเสริฐกว่าคนทังหลาย นายะกา อันเป็นนายนำหมู่นำสัตว์เข้าสู่นิพพาน

ชะยาสะนากะตา อันผจญแพ้ยังฤกษ์ฟ้าคือว่ากิเลสตัณหาทังมวล เชต๖วา ผจญแพ้แล้ว มารัง ยังมาร สวาหะนัง กับทังริพลมารและเสนามาร พระพุทธเจ้าทั้งหลายฝูงนั้น ปิวิงสุ ก็ดูดกิน จะตุสัจจัง มะตะระสัง ยังน้ำอะมะฤตคือสัจจะ 4 ประการ เตพุทธา อันว่าพระพุทธเจ้าทั้งหลายฝูงนั้น สัพเพ ทั้งมวล มุนิสสะรา อันเป็นใหญ่กว่านักปราชญ์ทั้งหลาย ปะติฏฐิโต จุ่งมาตั้งอยู่ มัตถะเก ในกระหม่อมแห่งผู้ข้าทั้งหลายเทอะ พุทโธ อันว่าพระพุทธเจ้าฝูงประกอบด้วยคุณทังหลายคือ ทะสะคุณ และ นะวะคุณ ทั้งหลายอันมีอะระหันตะคุณเป็นเค้า สิเสปะติฏฐิโต จุ่งมาตั้งอยู่เหนือหัวแห่งผู้ข้าทั้งหลายเทอะ ธัมโม อันว่าพระสัทธัมเจ้า 9 ประการ 10 กับทั้งพระปริยัติธรรม อันประกอบด้วยคุณทังหลาย 3 ประการ อันมี สวาขาตะคุณเป็นเค้า ปะติฏฐิโต จุ่งมาตั้งอยู่ ทวิโรจะโน ในตาแห่งผู้ข้าทั้งหลายเทอะ สังโฆ อันว่าพระอริยเจ้าตนประกอบด้วยคุณอันอุปัฏฐากแก่สัพพัญญูเจ้า ราหุละเถระเจ้าตนเกิดมาแต่อกแห่งพระพุทธเจ้าก็ดี อาสุง จุ่งมาตั้งอยู่ ทักขิเณ สะวะเน มัยหัง ในหูกล้ำขวาแห่งผู้ข้าทั้งหลายเทอะ อุพภะเถโร อันว่ามหาเถรเจ้า 2 พระองค์ กัสสะโป จะ มะหานาโม คือว่ามหากัสสะปะเถระเจ้า ตนประกอบด้วยอันทรงบังสุกุลอันประเสริฐก็ดี มหานามะเถระเจ้าก็ดี วามะโส ตะเก ปะติฏฐิตา จุ่งมาตั้งอยู่ในหูกล้ำซ้ายแห่งผู้ข้าทั้งหลายเทอะ เกสันเต ปิฏฐิภาคัสะมิง สุริโย จะ ปะภังกะโร นิสินโน สิริสัมปันโน โสภิโต มุนิปุงคะโว อันว่ามหาโสภิตะเถระเจ้า มุนิปุงคะโว อันประเสริฐกว่านักปราชญ์ทั้งหลาย สิริสัมปันโน อันประกอบด้วยศีลอันประเสริฐ สุริโย จะ ปะภังกะโร อันกระทำรัศมีรังสีอันรุ่งเรืองงามดีเป็นประดุจดั่งรัศมีแห่งพระอาทิตย์ นิสินโน จุ่งมาตั้งอยู่ เกสันเต ปิฏฐิภาคัสะมิง ในที่สุดปลายผมเบื้องหลังแห่งผู้ข้าทั้งหลายเทอะ กุมาระกัสสะโปนามะ พระกุมาระกัสสะปะเถระเจ้า มเหสิโน อันมีปกติอันแสวงหายังคุณอันประเสริฐ จิตตะวาทะโก อันกล่าวคำอันม่วนเพราะเสนาะใจ โสเถโร อัน มหากัสสะปะเถระเจ้าตนนั้น คุณากะโร อันบัวระมวลด้วยคุณทั้งมวล ปติฏฐาสิ จุ่งมาตั้งอยู่ มัยหัง วะทะเน นิจจัง ในปากแห่งผู้ข้าเป็นอันเที่ยงแท้เทอะ อิเมปัญจะมะหาเถรา อันว่ามะหาเถระเจ้า 5 พระองค์ฝูงนั้น ปุณโณ อังคุลิมาโล จะ คือมะหาปุณณะเถระเจ้าก็ดี มะหาอังคุลิมาละเถระเจ้าก็ดี มะหาอุปาลี นันทะสิพะลี มะหาอุบาลีเจ้าก็ดี มะหาอานันทะเถระเจ้าก็ดี ติละกา อันปรากฏในโลกทั้ง 3 คือ กามะโลก รูปะโลก อะรูปะโลก นะราเต มะมะ ปะติฏฐิตา จุ่งมาตั้งอยู่หน้าผากแห่งผู้ข้าทั้งหลายเทอะ เสสาสีติ มะหาเถรา อันว่ามะหาเถรเจ้าอันเหลือกว่าอันได้กล่าวพระนามมาแล้วแต่ภายหลังนั้น ชิตะวันตา อันมีกิเลสหากผจญแพ้แล้ว ชิโนระสา อันเกิดมาแต่อกแห่งพระพุทธเจ้า ชะลันตา สีละเตเชนะ อันรุ่งเรืองด้วยเตชะศีลแห่งตน อังคะมังเคสุ ปติฏฐิตา จุ่งมาตั้งอยู่ในองค์อันใหญ่อันน้อยแห่งผู้ข้าทั้งหลายเทอะ ระตะนัง อันว่ารัตนะสูตร ปุระโต อาสิ จุ่งมาตั้งอยู่กล้ำหน้าแห่งผู้ข้าทั้งหลายเทอะ เมตตะสุตตะกัง อันว่าเมตตะสูตร ทักขิเณ อาสิ จุ่งมาตั้งอยู่ข้างกล้ำขวาแห่งผู้ข้าทั้งหลายเทอะ ธะชัคคัง อันว่าธัชชัคคะสูตร ปัสสะโต จุ่งมาตั้งอยู่กล้ำหลังแห่งผู้ข้าทั้งหลายเทอะ อังคุลิมาละกัง อันว่าอังคุลิมาละสูตรก็ดี อาสิ จุ่งมาตั้งอยู่ข้างซ้ายแห่งผู้ข้าทั้งหลายเทอะ ขันธะโมระปะริตตัญจะ อันว่าขันธะปริตตะสูตรก็ดี โมระปริตตะสูตรก็ดี อาฏานาฏิยะสุตตะกัง อันว่าอาฏานาฏิยะสูตรก็ดี อากาเสสะทะนัง อาสิ จุ่งมาตั้งอยู่เป็นพิดานกั้งในอากาศภายบนหัวแห่งผู้ข้าทั้งหลายเทอะ เสสาสุตตะ อันว่าสูตรทั้งหลายอันเศษเหลือกว่าสูตรอันกล่าวแล้วแต่ภายหลังนั้น ชินนนังพะละสังยุตเต อันประกอบด้วยกำลังอาชญาแห่งพระพุทธเจ้า ปัณณะรา จุ่งมาปรากฏเป็นกำแพงอันแล้วด้วยแก้วมณีโชติ และด้วยสูตรประการทั้งหลายฝูงนั้น สัตตะปาการะลังกะเต อันประกอบด้วยอันรักษา 7 ประการ จุ่งมาแวดล้อมภายนอกตนแห่งผู้ข้าทั้งหลายทุกวันคืน พะหิรัชฌะตุปัททะวา อันว่าอุปัททะวะทั้งหลายอันเป็นภายในและภายนอก วาตาปิตตาทิสะชาตา อันเกิดมาในลม อะวะเสสา วินะยัง ยันตุ จุ่งเถิงเซิ่งอันฉิบเสียบ่เศษหลอ อนันตาชินะเตชะสา ด้วยเตชะแห่งสัพพัญญูเจ้าตนมีคุณหาที่สุดบ่ได้ วะสะโต เม แก่ข้าอันอยู่ สัมพุทธะปัญชะเร ในสีละปัญจะอันประเสริฐ คือว่าพระพุทธเจ้า สักกัจเจนะ ด้วยอันครบยำ สะทา ในกาลทุกเมื่อเทอะ เต มะหาปุริสา อันว่ามหาปุริสะเจ้าฝูงนั้น สะภา อันประเสริฐกว่าสัตว์ 2 ตีน และสรรพสัตว์ทั้งมวล วะสันตา อยู่ มะหิตะเล เหนือแผ่นดินและภูผาในชุมพูทวีปทั้งมวล สะทาปาเลนตุ จุ่งประกอบพิพักรักษา มะยิ ในฝูงหมู่ข้าทั้งหลาย วิหะรันตัง อันตั้งอยู่ ชินะปัญชะระมัชฌัมหิ ในที่ท่ามกลางขบวนกระอูบแก้ว คือว่าอาชญาแห่งพระพุทธเจ้าองค์ประเสริฐล้ำเลิศยิ่งนัก มะหิตะเล เหนือแผ่นดิน สะทา ในกาลทุกเมื่อเทอะ อิจเจวะ เม กะโต สุรักโข ชินา นุภาเวนะ

ชิตุปัททะโว ธัมมานุภาเวนะ ชิตาริสังโฆ สังฆานุภาเวนะ ชิตันตะราโย จะรามิ ธัมมานุภาเวนะ ปะริตโต อันว่ามนต์อันนี้ อิจเจวะ มักว่า เอวัง ด้วยประการเท่านี้ สุกะโต อันผู้ข้าหากกระทำสวาทธิยายดีนัก สุรักขา อันผู้ข้ารักษาดีคุ้มครองไว้ดี ชิตุปัททะวา ก็อาจผจญแพ้อุปัททวะอันตรายภัยหื้อหมดเสี้ยงบ่หื้อเศษหลอ ชิตุปัททะวา พุทธานุภาเวนะ ด้วยอานุภาพแห่งพระพุทธเจ้าหุ้มหัวผู้ข้า

ชิตะสังฆา ก็อาจผจญแพ้หมู่ข้าศึกศัตรูทั้งมวล สังฆานุภาเวนะด้วยอำนาจพระสังฆเจ้าหุ้มหัวผู้ข้า อะหัง อันว่าข้า ธัมมานุภาเวนะ ปาระโต ด้วยอานุภาพพระสัทธรรมเจ้ามารักษากั้งบังดีนัก จะรามิ หากจรเดินไปในทิศที่ใดก็ดี ก็จุ่งแจ้งสว่างหายภัยอันตรายรำงับดับเสี้ยง หะเม มักว่า เอกันเตนะ อันมีเที่ยงแท้อย่าคลาดอย่าคลา ด้วยอำนาจอาชญาแห่งพระรัตนตรัยเจ้า 3 ประการ หากมาพิพักรักษายังตนตัวแห่งผู้ข้าทั้งหลายเทอะ ชินะ ปัญชะระ ปะริตตัง นิฏฐิตัง
แหล่งสื่อ moradoklanna.com

No comments:

Post a Comment

Search This Blog

Dhamma Blog - Dharma Thai Buddhism Portal

 

blogger templates | Make Money Online